วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วันปีใหม่


วันปีใหม่ เป็นวันแรกของปี ตามปฏิทินแบบเกรกอเรียน ตรงกับวันที่ 1 มกราคม ของทุกปี ความหมายของวันขึ้นปีใหม่ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของคำว่า " ปี" ไว้ดังนี้ ปี หมายถึง เวลา ชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ


หัวข้อ
ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่
การทำบุญในวันขึ้นปีใหม่
คติข้อคิดในวันขึ้นปีใหม่
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่
หลากหลายความเชื่อวันปีใหม่

ความเป็นมาของ วันขึ้นปีใหม่

ในอดีต วันขึ้นปีใหม่ของไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 4 ครั้งคือ ครั้งแรกถือเอาวันแรม 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ซึ่ง ตรงกับเดือนมกราคม ครั้งที่ 2 กำหนดให้วันขึ้นปีใหม่ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ตามคติพราหมณ์ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน

การกำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน 2 ครั้งนี้ ถือเอาทางจันทรคติเป็นหลัก ต่อมาได้ถือเอาทางสุริยคติแทน โดยกำหนดให้วันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ.2432 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะตามชนบทยังคงยึดถือเอาวันสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่อยู่ ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ทางราชการเห็นว่าวันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ไม่สู้จะมีการรื่นเริงอะไรมากนัก สมควรที่จะฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ จึงได้ประกาศให้มีงานรื่นเริงวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2477 ขึ้นใน กรุงเทพฯเป็นครั้งแรก

การจัดงานวันขึ้นปีใหม่ที่ได้เริ่มเมื่อวันที่ 1 เมษายน ได้แพร่หลายออกไปต่างจังหวัดในปีต่อๆมา และในปี พ.ศ.2479 ก็ได้มีการ จัดงานรื่นเริงปีใหม่ทั่วทุกจังหวัด วันขึ้นปีใหม่วันที่ 1 เมษายน ในสมัยนั้นทางราชการเรียกว่า วันตรุษสงกรานต์

ต่อมาได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการ เป็นประธานกรรมการ ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 มกราคม โดยกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม 2484 เป็น วันขึ้นปีใหม่เป็นต้นไป

เหตุผลที่ทางราชการได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ 1 เมษายนมาเป็นวันที่ 1 มกราคม ก็คือ
1. ไม่ขัดกับพุทธศาสนาในด้านการนับวัน เดือน และการร่วมฉลองปีใหม่ด้วยการทำบุญ
2. เป็นการเลิกวิธีนำเอาลัทธิพราหมณ์มาคร่อมพระพุทธศาสนา
3. ทำให้เข้าสู่ระดับสากลที่ใช้อยู่ในประเทศทั่วโลก
4. เป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรม คตินิยม และจารีตประเพณีของชาติไทย

กิจกรรมที่ชาวไทยส่วนใหญ่มักจะยึดถือปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่ได้แก่
1. การทำบุญตักบาตร โดยอาจตักบาตรที่บ้าน หรือไปที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการเชิญชวนไปร่วมทำบุญ
2. การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ และอวยพรเพื่อนฝูง การมอบของขวัญ การมอบช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร
3. การจัดงานรื่นเริง การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องหรือตามหน่วยงานต่างๆ

วันขึ้นปีใหม่นับเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เราได้ทบทวนถึงการดำเนินชีวิตในอดีต เพื่อจะได้แก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีตให้ดีขึ้น









[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]


การทำบุญในวันขึ้นปีใหม่

เมื่อใกล้ถึงเทศกาลปีใหม่ ประชาชนจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้สะอาด ประดับไฟและธงชาติตามสถานที่สำคัญ ๆ

ครั้นถึงวันที่ 31 ธันวาคม ก็จะมีการทำบุญเลี้ยงพระ ไปวัด เพื่อประกอบกิจกุศลต่าง ๆ เช่น ฟังพระธรรมเทศนา ถือศีลปฏิบัติธรรม แต่บางคนก็แค่ทำบุญตักบาตร ตอนกลางคืนบางแห่งอาจจัดเทศกาลกินเลี้ยงเป็นที่ครื้นเครงสนุกสนาน เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

เช้าวันที่ 1 มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตร ไปท่องเที่ยวหรือเยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ผู้ที่เคารพนับถือ มีการมอบของขวัญและบัตรอวยพรให้แก่กัน

สำหรับในต่างจังหวัด จะมีการทำบุญเลี้ยงพระที่วัด และอุทิศส่วนกุศลไปให้แก่ญาติที่ล่วงลับ กลางคืนมีการละเล่นพื้นบ้านหรือจัดมหรสพมาฉลอง




คติข้อคิดในวันขึ้นปีใหม่
เมื่อวันเวลาผันเปลี่ยนเวียนไปครบ 1 ปี เราได้อยู่รอดปลอดภัยมาจนถึงวันขึ้นปีใหม่ ขอให้ลองมองย้อนหลังกลับไปคิดดูว่า วันเวลาที่ผ่านมานั้นเราได้ใช้มันอย่างคุ้มค่าหรือเปล่า และได้กระทำคุณงามความดีอันใดไว้บ้าง และควรหาโอกาสกระทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นทุกปี ในขณะเดียวกันเราได้กระทำความผิดหรือสิ่งใดที่ไม่ถูกต้องไว้หรือไม่ หากมีต้องรีบปรับปรุงแก้ไขตัวเอง




กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันขึ้นปีใหม่

1. เก็บกวาดดูแลทำความสะอาด ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน

2. ทำบุญตักบาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว

3. ไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม หรือฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสเบิกบาน ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

4. ตรวจสอบตัวเอง เกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำมาตลอดปี ว่ามีความเจริญก้าวหน้าสำเร็จลุล่วงไปได้แค่ไหน หากมีคั่งค้างก็ต้องเร่งขวนขวายปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องของตน ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดีก็ให้ตั้งใจทำให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

5. หากมีเรื่องบาดหมางหรือขุ่นเคืองกับผู้ใด ในวันนี้ควรถือโอกาสให้อภัยซึ่งกันและกัน เริ่มสานความสัมพันธ์ให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ด้วยดี






[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]


หลากหลายความเชื่อวันปีใหม่

ในทุกเทศกาลปีใหม่ที่เวียนมาถึงประชาชนหลากหลายเชื้าติต่างมีความเชื่อแตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆในวันสำคัญวันนี้

ชาวโรมันและชาวเยอรมันโบราณ ถือว่าวันขึ้นปีใหม่เป็นเวลาที่พวกเขาได้สลัดปีเก่าทิ้งไปแล้วรับเอาแต่สิ่งดีๆ ที่จะบังเกิดขึ้นในวันปีใหม่ไว้แทนที่ ส่วนชาวอิหร่าน มีความเชื่อว่าวันปีใหม่เป็นเวลาแห่งหารเกิดของสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นสมัยแห่งการฉลองชัยของสุริยเทพ ธรรมชาติ รวมไปถึงมวลมนุษยชาติ

ชาวซูลู (ในทวีปแอฟริกา) ต่างก็มีประเพณีเกี่ยวกับวันปีใหม่นี้เช่นกัน ซึ่งเมื่อถึงวันนี้พวกเขาจะกินผลไม้ที่ออกผลเป็นครั้งแรก และพวกผู้ชายจะกลืนกินเนื้อวัวสดๆ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงความแข็งแรงและอุดมสมบูรณ์ในระหว่างปีที่จะมาถึง ขณะที่ชาวอังกฤษโบราณ เมื่อวันนี้มาถึงต่างก็พร้อมใจกันทำความสะอาดปล่องไฟเตรียมไว้ต้อนรับโชคลาภที่จะมาถึงในวันปีใหม่ โดยมีความเชื่อว่าจะลงมาทางปล่องไฟและจะคงอยู่ที่นั่นตลอดปี

นอกจากนั้น ชาวญี่ปุ่นและชาวอินเดียนแดง ยังมีความเชื่อคล้ายๆกันอีกว่า จะเอาเสื้อผ้าเก่าๆไปทิ้งและจะสวมเสื้อผ้าชุดใหม่ อีกทั้งทำความสะอาดบ้านเรือน เพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนชาวลาตินอเมริกาจะไม่นิยมให้นาฬิกาเป็นของขวัญ เพราะหลีกเลี่ยงของขวัญที่เกี่ยวพันกับเลข 13 เป็นต้น

สำหรับวันปีใหม่ของไทย มีความเชื่อมากมายและไม่ว่าจะเป็นการคิดถึงสิ่งดีๆ ทำสิ่งดีๆห้ามให้ของมีคมแก่กัน เพราะเชื่อว่าอาจเป็นลางร้ายก่อให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นได้ หรือแม้แต่ห้ามพูดจาหยาบคาย หรือด่าทอกันในวันนี้

วันรัฐธรรมนูญ

วันรัฐธรรมนูญไทย

วันรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันที่ระลึกคล้ายวันที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทาน รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนชาวไทย


หัวข้อ
ความเป็นมา
สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ความเป็นมา
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาสิทธิราช ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมาเป็นเวลา ๗๐๐ ปีเศษ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ




สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรีทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย

๒. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วยพระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออก ยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ

๓. อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน

๔. รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน จากราษฎร

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารซึ่งประกอบด้วยพันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์เป็นผู้บริหารประเทศ วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว” สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่ การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลายการใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคล คณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ

๑. พระมหากษัตริย์

๒. สภาผู้แทนราษฎร

๓. คณะกรรมการราษฎร

๔. ศาล

ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ก็ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ สถาบันที่เกิดใหม่คือ สภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้ว จึงจะมีผลบังคับได้ เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม

กระทั่งถึง วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม ฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการ อาทิได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะรัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วย แต่อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ในส่วนเกี่ยวกับพระมหา กษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้ว ๕ ฉบับ ฉบับสุดท้ายคือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๕) พุทธศักราช ๒๕๓๘


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ


[ดูภาพทั้งหมดในหมวด]


รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งโปรดเกล้าฯให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา แล้วได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ จึงได้ถือเป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทุกปีสืบมางานนี้เป็นงานพระราชพิธีและรัฐพิธีร่วมกัน

ในการประกอบพระราชพิธีประจำปีนั้น ที่ท้องพระโรงพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งพระที่นั่งพุดตานสลักปิดทอง เชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๗ ขึ้นประดิษฐาน และเชิญฉบับรัฐธรรมนูญวางบนพานทองสองชั้นเข้าในมณฑลพิธีแวดล้อมด้วยต้นไม้ทอง - เงิน พร้อมด้วยเครื่องนมัสการและที่ทรงกราบ

เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิตรถยนต์พระที่นั่งผ่านประตูทวยเทพสโมสร กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเทียบรถยนต์พระที่นั่งที่บันได้ท้องพระโรงหลัง ณ ที่นี้ประธานรัฐสภารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่ท้องพระโรงหลังซึ่งเป็นมณฑลพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล แล้วพระสงฆ์ ๑๕ รูป (พระสงฆ์ถือตามเกณฑ์เมื่อครั้งงานฉลองพระราชทานรัฐธรรมนูญปีแรก ขณะนั้นมี ๑๒ กระทรวง การปฏิบัติพระสงฆ์จึงมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานรัฐสภาพ นายกรัฐมนตรี และเสนาบดี ๑๒ กระทรวง จึงเป็น ๑๕ รูป) เจริญพระพุทธมนต์ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์ นอกนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ประธานรัฐสภาถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อรถยนต์พระที่นั่งผ่านประตูทวยเทพสโมสร กองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จพระราชดำเนินกลับ

พระราชพิธีนี้แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายช้างเผือก

อนึ่งทางรัฐสภาได้ขอพระบรมราชานุญาติหล่อพระบรมราชานุสรณ์ไว้ที่หน้าตึกประชุมสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ในพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จะได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ก่อน แล้วจึงเสด็จฯไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ก่อน แล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ รัฐบาลได้ประกาศเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สำคัญของชาติ มีการถวายบังคมพระบรมรูปเป็นงานประจำ

วันพ่อแห่งชาติ

วันพ่อแห่งชาติ 2554

วันพ่อแห่งชาติ 2554

วันพ่อแห่งชาติ


พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (ราชบัณฑิตยสถาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หน้า 587) พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายคำว่า “พ่อ” ไว้ดังนี้

พ่อ หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูก, คำที่ลูกเรียกชายผู้ให้กำเนิดตน
ในทางพุทธศาสนา ได้ให้ความหมายของคำว่า “พ่อ” หมายถึง ชายผู้ให้กำเนิดแก่ลูกมีใช้หลายคำ เช่น

- บิดา (พ่อ)
- ชนก (ผู้ให้กำเนิด)
- สามี (ผัวของแม่) เป็นต้น

วันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทางราชการได้กำหนดให้เป็นวันหยุดราชการหนึ่งวัน เพื่อให้ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและถือเป็นวันพ่อแห่งชาติ อีกวันหนึ่งด้วย

วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือวันพ่อแห่งชาติ มีความเป็นมาของวันสำคัญ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาล เมาท์ ออเบิร์น นครบอสตัน สหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์วิทท์มอร์เป็นผู้ถวายการประสูติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 9 แห่งบรมจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกอบพระราชกรณียกิจและเจริญพระราชจริยาวัตรเป็นเอนกประการจำเนียรกาลผ่านมาถึงปัจจุบันที่สุดจะพรรณนาให้ครบถ้วนได้ท่ามกลางมหาสมาคมวันพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกทรงมีกระแสพระราชดำรัสที่ พสกนิกรทุกคนยังจดจำได้ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” อันคำว่าโดย “ธรรม” นั้น ทรงหมายถึง ธรรมอันล้ำเลิศที่เรียกว่า “ทศพิธราชธรรม” หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า “ราชธรรม 10 ประการ”



พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง


ราชธรรม 10 ประการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงยึดมั่นทรงปฎิบัติโดยเคร่งครัด และส่งผลถึงพสกนิกรทั่วพระราชอาณาจักรนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเหนือเกล้าฯ ห่วงใยตั้งแต่พระเยาว์จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งพระเจ้าหลานเธอทุกพระองค์ต่างซาบซึ้งและปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณอย่างมิรู้ลืม พระองค์ทรงเป็น “พ่อ” ตัวอย่างของปวงชนชาวไทยที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงห่วงใยอย่างหาที่เปรียบมิได้


“...บ้านเมืองของเราเป็นปึกแผ่นร่มเย็นปกติสุขมาช้านาน เพราะเรามีความยึดมั่นในชาติและต่างร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่โดยนึกถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติเป็นเป้าหมายสำคัญสูงสุด ท่านทั้งหลายในสมาคมนี้ ตลอดจนคนไทยทุกหมู่เหล่า จึงควรทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนไว้ให้กระจ่างและนำไปปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ด้วยความไม่ประมาท และด้วยความมีสติ…”


(พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ณ พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย พระบรมมหาราชวัง)

กิจกรรมที่ควรปฎิบัติในวันพ่อแห่งชาตินี้

1. ในวันพ่อแห่งชาติเราควรประดับธงชาติไทยที่อาคารบ้านเรือน

2. จัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

3. จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล


ความเป็นมาของวันพ่อแห่งชาติ

วันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่มหลักการและเหตุผลในการจัดตั้งวันพ่อแห่งชาติ พ่อเป็นผู้มีพระคุณที่มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสมควรที่สังคมจะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น “วันพ่อแห่งชาติ” ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยอย่างนานัปการ ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา ทรงรักใคร่และให้ดอกพุทธรักษาเป็นสัญลักษณ์ วันพ่อแห่งชาติ


ทุกบุปผา มาลัยคือใจราษฎร์ ภักดีบาทองค์บพิตรเป็นนิจสิน
พระ คือ บิดาข้าแผ่นดิน ร่วมร้อยรินมาลัยถวายพระพร
ลุ 5 ธันวามหาราช “วันพ่อแห่งชาติ” คือองค์อดิศร
พระเปี่ยมล้นด้วยเมตตาเอื้ออาทร พสกนิกรเป็นสุขทุกคืนวัน

ด้วยพ่อเป็นบุคคลผู้มีพระคุณ มีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคม สมควรที่ผู้เป็นลูกจะเคารพ เทิดทูน และตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติรำลึกถึงผู้เป็นพ่อนี่เป็นที่มาของการจัดให้มี วันพ่อแห่งชาติ



วันพ่อแห่งชาติหรือวันเฉลิมพระชนพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

5 ธันวาวันพ่อแห่งชาติ

5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและยังเป็นวันพ่อแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะพ่อแห่งชาติ อีกทั้งทรงเป็นพ่อตัวอย่างของปวงชนชาวไทย ที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตากรุณา ทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชน ทรงพระมหากรุณาทะนุบำรุงขจัดทุกข์ผดุงสุขพสกนิกรถ้วนหน้า พระองค์ทรงเป็น พ่อแห่งชาติที่อาณาประชาราษฎร์เทิดทูนด้วยความจงรักภักดี สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในการทะนุบำรุงชาติบ้านเมืองให้ วัฒนาถาวรสืบไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของวันพ่อแห่งชาติ 4 ประการ คือ

1. เพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2. เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม
3. เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อ

4. เพื่อให้ผู้เป็นพ่อ สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน


วันพ่อแห่งชาติ ในประเทศไทยตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี

ดอกไม้ประจำวันพ่อแห่งชาติ

วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีเป็นวันพ่อแห่งชาติ กำหนดขึ้นครั้งแรก ในปี 2523 และ กำหนดให้ ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ

ดอกพุทธรักษาสีเหลือง เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันพ่อแห่งชาติ

“พุทธรักษา” ซึ่งหมายถึง พระพุทธเจ้าทรงปกป้องคุ้มครอง ให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งมีเรียกกันมากว่า 200 ปี และสีเหลืองอันเป็นสีประจำวัน พระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทย การมอบดอกพุทธรักษาให้กับพ่อ จึงเสมือนกับการบอกถึง ความรักและเคารพบูชาพ่อ ผู้สร้างความสงบสุขร่มเย็นให้แก่ครอบครัว

คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นพุทธรักษาไว้ประจำบ้านจะช่วยปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้มีเหตุร้ายหรืออันตรายเกิดแก่บ้านและผู้อาศัย เ

บทบาทของพ่อ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสรุปบทบาทหน้าที่ของพ่อและแม่ไว้ 5 ข้อ
1. กันลูกออกจากความชั่ว
2. ปลูกฝังลูกไว้ในทางที่ดี
3. ให้ลูกได้รับการศึกษาเล่าเรียน
4. ให้ลูกได้แต่งงานกับคนดี
5. มอบทรัพย์มรดกให้เมื่อถึงการณ์อันควร

วันพ่อแห่งชาตินั้นทั่วโลกจะมีการจัดแตกต่างกันไป โดยในประเทศไทยจัดตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี

ในส่วนของพ่อเองก็ต้องตั้งใจฝึกตนเองให้ดี ให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกให้ได้ หาเวลามาทำกิจกรรมร่วมกัน จะได้มีเวลาแนะนำอบรมสั่งสอนกันเพื่อครอบครัวจะได้ เป็นครอบครัวอบอุ่น โดยในวันพ่อที่จะถึงนี้ ก็ขออวยพรให้คุณพ่อทุกท่านมีความสุข ดูแลลูกๆ และอยู่กับลูกๆ ไปตราบนานเท่านาน


คลิปเพลงที่เกี่ยวกับวันพ่อแห่งชาติ

http://www.youtube.com/watch?feature=player_embedded&v=fXgwmsAxRi8

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

วันลอยกระทง

ลอยกระทง เป็นพิธีอย่างหนึ่งที่มักจะทำกันในคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 อันเป็นวันพระจันทร์เต็มดวง และเป็นช่วงที่น้ำหลากเต็มตลิ่ง โดยจะมีการนำดอกไม้ ธูป เทียนหรือสิ่งของใส่ลงในสิ่งประดิษฐ์รูปต่างๆ ที่ไม่จมน้ำ เช่น กระทง เรือ แพ ดอกบัว ฯลฯ แล้วนำไปลอยตามลำน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์ และความเชื่อต่างๆ กัน ในปีนี้วันลอยกระทงตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2554
ประเพณีลอยกระทง มิได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศจีน อินเดีย เขมร ลาว และพม่า ก็มีการลอยกระทงคล้ายๆ กับบ้านเรา จะต่างกันบ้าง ก็คงเป็นเรื่องรายละเอียด พิธีกรรม และความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น แม้แต่ในบ้านเราเอง การลอยกระทง ก็มาจากความเชื่อที่หลากหลายเช่นกัน ซึ่งกลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้รวบรวมมาบอกเล่าให้ทราบกันดังต่อไปนี้
ทำไมถึงลอยกระทง การลอยกระทง เป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า ปฏิบัติกันมาแต่เมื่อไร เพียงแต่ท้องถิ่นแต่ละแห่ง ก็จะมีจุดประสงค์และความเชื่อในการลอยกระทงแตกต่างกันไป เช่น ในเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ก็จะเป็นการบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์, เป็นบูชารอยพระพุทธบาท ณ หาดทรายริมฝั่งแม่น้ำนัมมทา ซึ่งปัจจุบันคือแม่น้ำเนรพุททาในอินเดีย หรือต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งไปโปรดพระพุทธมารดา

นอกจากนี้ ก็ยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อบูชาพระอุปคุตเถระที่บำเพ็ญบริกรรมคาถาในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล บางแห่งก็ลอยกระทง เพื่อบูชาเทพเจ้าตามความเชื่อของตน บางแห่งก็เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งขอขมาที่ได้ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงไป ส่วนบางท้องที่ ก็จะทำเพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ หรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ ลอยทุกข์โศกโรคภัยต่างๆ และส่วนใหญ่ก็จะอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาไปด้วย
พระยาอนุมานราชธน ได้สันนิษฐานว่า ต้นเหตุแห่งการลอยกระทง อาจมีมูลฐานเป็นไปได้ว่า การลอยกระทงเป็นคติของชนชาติที่ประกอบกสิกรรม ซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นสำคัญ เมื่อพืชพันธุ์ธัญชาติงอกงามดี และเป็นเวลาที่น้ำเจิ่งนองพอดี ก็ทำกระทงลอยไปตามกระแสน้ำไหล เพื่อขอบคุณแม่คงคา หรือเทพเจ้าที่ประทานน้ำมาให้ความอุดมสมบูรณ์ เหตุนี้ จึงได้ลอยกระทงในฤดูกาลน้ำมาก และเมื่อเสร็จแล้ว จึงเล่นรื่นเริงด้วยความยินดี เท่ากับเป็นการสมโภชการงานที่ได้กระทำว่า ได้ลุล่วงและรอดมาจนเห็นผลแล้ว ท่านว่าการที่ชาวบ้านบอกว่า การลอยกระทงเป็นการขอขมาลาโทษ และขอบคุณต่อแม่คงคา ก็คงมีเค้าในทำนองเดียวกับการที่ชาติต่างๆ แต่ดึกดำบรรพ์ได้แสดงความยินดี ที่พืชผลเก็บเกี่ยวได้ จึงได้นำผลผลิตแรกที่ได้ ไปบูชาเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพื่อขอบคุณที่บันดาลให้การเพาะปลูกของตนได้ผลดี รวมทั้งเลี้ยงดูผีที่อดอยาก และการเซ่นสรวงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เสร็จแล้วก็มีการสมโภชเลี้ยงดูกันเอง
ต่อมาเมื่อมนุษย์มีความเจริญแล้ว การวิตกทุกข์ร้อน เรื่องเพาะปลูกว่าจะไม่ได้ผลก็น้อยลงไป แต่ก็ยังทำการบวงสรวง ตามที่เคยทำมาจนเป็นประเพณี เพียงแต่ต่างก็แก้ให้เข้ากับคติลัทธิทางศาสนาที่ตนนับถือ เช่น มีการทำบุญสุนทานเพิ่มขึ้นในทางพุทธศาสนา เป็นต้น แต่ที่สุด ก็คงเหลือแต่การเล่นสนุกสนานรื่นเริงกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น การลอยกระทงจึงมีอยู่ในชาติต่างๆทั่วไป และการที่ไปลอยน้ำ ก็คงเป็นความรู้สึกทางจิตวิทยา ที่มนุษย์โดยธรรมดา มักจะเอาอะไรทิ้งไปในน้ำให้มันลอยไป
ทำไมกระทงส่วนใหญ่เป็นรูปดอกบัว ในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำนานนางนพมาศ ซึ่งเป็นพระสนมเอก ของพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือพระร่วง แห่งกรุงสุโขทัย ได้กล่าวถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองว่า เป็นเวลาเสด็จประพาสลำน้ำ ตามพระราชพิธีในเวลากลางคืน และได้มีรับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในทั้งหลาย ตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียน นำไปลอยน้ำหน้าพระที่นั่ง ในคราวนั้น ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศพระสนมเอก ก็ได้คิดประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษ ที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้งในวันดังกล่าว สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็น ก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้นำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน” ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นโคมลอยรูปดอกบัวปรากฏมาจนปัจจุบัน


ตำนานและความเชื่อ จากที่กล่าวมาข้างต้นว่า การลอยกระทง ในแต่ละท้องที่ก็มาจากความเชื่อ ความศรัทธาที่แตกต่างกัน บางแห่งก็มีตำนานเล่าขานกันต่อๆมา ซึ่งจะยกตัวอย่างบางเรื่องมาให้ทราบ ดังนี้
เรื่องแรก ว่ากันว่าการลอยกระทง มีต้นกำเนิดมาจากศาสนาพุทธนั่นเอง กล่าวคือก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์ ใกล้แม่น้ำเนรัญชรา กาลวันหนึ่ง นางสุชาดาอุบาสิกาได้ให้สาวใช้นำข้าวมธุปายาส (ข้าวกวนหุงด้วยน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อย) ใส่ถาดทองไปถวาย เมื่อพระองค์เสวยหมดแล้ว ก็ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าหากวันใดจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ก็ขอให้ถาดลอยทวนน้ำ ด้วยแรงสัตยาธิษฐาน และบุญญาภินิหาร ถาดก็ลอยทวนน้ำไปจนถึงสะดือทะเล แล้วก็จมไปถูกขนดหางพระยานาคผู้รักษาบาดาล
พระยานาคตื่นขึ้น พอเห็นว่าเป็นอะไร ก็ประกาศก้องว่า บัดนี้ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุบัติขึ้นในโลกอีกองค์แล้ว ครั้นแล้วเทพยดาทั้งหลายและพระยานาค ก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า และพระยานาคก็ได้ขอให้พระพุทธองค์ ประทับรอยพระบาทไว้บนฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพื่อพวกเขาจะได้ขึ้นมาถวายสักการะได้ พระองค์ก็ทรงทำตาม ส่วนสาวใช้ก็นำความไปบอกนางสุชาดา ครั้นถึงวันนั้นของทุกปี นางสุชาดาก็จะนำเครื่องหอม และดอกไม้ใส่ถาดไปลอยน้ำ เพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทเป็นประจำเสมอมา และต่อๆ มาก็ได้กลายเป็นประเพณีลอยกระทง ตามที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ในเรื่องการประทับรอยพระบาทนี้ บางแห่งก็ว่า พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า ไปแสดงธรรมเทศนาในนาคพิภพ เมื่อจะเสด็จกลับ พญานาคได้ทูลขออนุสาวรีย์จากพระองค์ไว้บูชา พระพุทธองค์จึงได้ทรงอธิษฐาน ประทับรอยพระบาทไว้ที่หาดทรายแม่น้ำนัมมทา และพวกนาคทั้งหลาย จึงพากันบูชารอยพระพุทธบาทแทนพระองค์ ต่อมาชาวพุทธได้ทราบเรื่องนี้ จึงได้ทำการบูชารอยพระบาทสืบต่อกันมา โดยนำเอาเครื่องสักการะใส่กระทงลอยน้ำไป ส่วนที่ว่าลอยกระทงในวันเพ็ญ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จกลับมาสู่โลกมนุษย์ หลังการจำพรรษา 3 เดือน ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดานั้น ก็ด้วยวันดังกล่าว เหล่าทวยเทพและพุทธบริษัท พากันมารับเสด็จนับไม่ถ้วน พร้อมด้วยเครื่องสักการบูชา และเป็นวันที่พระพุทธองค์ได้เปิดให้ประชาชนได้เห็นสวรรค์ และนรกด้วยฤทธิ์ของพระองค์ คนจึงพากันลอยกระทง เพื่อเฉลิมฉลองรับเสด็จพระพุทธเจ้า
สำหรับคติที่ว่า การลอยกระทงตามประทีป เพื่อไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี บนสรวงสรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น ก็ว่าเป็นเพราะตรงกับวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จออกบรรพชาที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงใช้พระขรรค์ตัดพระเกศโมลีขาด ลอยไปในอากาศตามที่ทรงอธิษฐาน พระอินทร์จึงนำผอบแก้วมาบรรจุ แล้วนำไปประดิษฐานไว้ในจุฬามณีเจดีย์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตามประทีป คือ การจุดประทีป หรือจุดไฟในตะเกียง /โคม หรือผาง-ถ้วยดินเผาเล็กๆ) ซึ่งทางเหนือของเรา มักจะมีการปล่อยโคมลอย หรือโคมไฟที่เรียกว่า ว่าวไฟ ขึ้นไปในอากาศเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีด้วย
เรื่องที่สอง ตามตำราพรหมณ์คณาจารย์กล่าวว่า พิธีลอยประทีปหรือตามประทีปนี้ แต่เดิมเป็นพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์และพระพรหม เป็นประเภทคู่กับลอยกระทง ก่อนจะลอยก็ต้องมีการตามประทีปก่อน ซึ่งตามคัมภีร์โบราณอินเดียเรียกว่า “ทีปาวลี” โดยกำหนดทางโหราศาสตร์ว่า เมื่อพระอาทิตย์ถึงราศีพิจิก พระจันทร์อยู่ราศีพฤกษ์เมื่อใด เมื่อนั้นเป็นเวลาตามประทีป และเมื่อบูชาไว้ครบกำหนดวันแล้ว ก็เอาโคมไฟนั้นไปลอยน้ำเสีย ต่อมาชาวพุทธเห็นเป็นเรื่องดี จึงแปลงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท และการรับเสด็จพระพุทธเจ้า ดังที่กล่าวมาข้างต้น โดยมักถือเอาเดือน 12 หรือเดือนยี่เป็งเป็นเกณฑ์ (ยี่เป็งคือเดือนสอง ตามการนับทางล้านนา ที่นับเดือนทางจันทรคติ เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน)
เรื่องที่สาม เป็นเรื่องของพม่า เล่าว่า ครั้งหนึ่งในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระประสงค์จะสร้างเจดีย์ให้ครบ 84,000 องค์ แต่ถูกพระยามารคอยขัดขวางเสมอ พระองค์จึงไปขอให้พระอรหันต์องค์หนึ่ง คือ พระอุปคุตช่วยเหลือ พระอุปคุตจึงไปขอร้องพระยานาคเมืองบาดาลให้ช่วย พระยานาครับปาก และปราบพระยามารจนสำเร็จ พระเจ้าอโศกมหาราช จึงสร้างเจดีย์ได้สำเร็จสมพระประสงค์ ตั้งแต่นั้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 12 คนทั้งหลายก็จะทำพิธีลอยกระทง เพื่อบูชาคุณพระยานาค เรื่องนี้ บางแห่งก็ว่า พระยานาค ก็คือพระอุปคุตที่อยู่ที่สะดือทะเล และมีอิทธิฤทธิ์มาก จึงปราบมารได้ และพระอุปคุตนี้ เป็นที่นับถือของชาวพม่า และชาวพายัพของไทยมาก
เรื่องที่สี่ เกิดจากความเชื่อแต่ครั้งโบราณในล้านนาว่า เกิดอหิวาต์ระบาด ที่อาณาจักรหริภุญชัย ทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่ไม่ตายจึงอพยพไปอยู่เมืองสะเทิม และหงสาวดีเป็นเวลา 6 ปี บางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น ครั้นเมื่ออหิวาต์ได้สงบลงแล้ว บางส่วนจึงอพยพกลับ และเมื่อถึงวันครบรอบที่ได้อพยพไป ก็ได้จัดธูปเทียนสักการะ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคดังกล่าวใส่ สะเพา ( อ่านว่า “ สะ - เปา หมายถึง สำเภาหรือกระทง ) ล่องตามลำน้ำ เพื่อระลึกถึงญาติที่มีอยู่ในเมืองหงสาวดี ซึ่งการลอยกระทงดังกล่าว จะทำในวันยี่เพง คือ เพ็ญเดือนสิบสอง เรียกกันว่า การลอยโขมด แต่มิได้ทำทั่วไปในล้านนา ส่วนใหญ่เทศกาลยี่เพงนี้ ชาวล้านนาจะมีพิธีตั้งธัมม์หลวง หรือการเทศน์คัมภีร์ขนาดยาวอย่างเทศน์มหาชาติ และมีการจุดประทีปโคมไฟอย่างกว้างขวางมากกว่า (การลอยกระทง ที่ทางโบราณล้านนาเรียกว่า ลอยโขมดนี้ คำว่า “ โขมด อ่านว่า ขะ-โหมด เป็นชื่อผีป่า ชอบออกหากินกลางคืน และมีไฟพะเหนียงเห็นเป็นระยะๆ คล้ายผีกระสือ ดังนั้น จึงเรียกเอาตามลักษณะกระทง ที่จุดเทียนลอยในน้ำ เห็นเงาสะท้อนวับๆ แวมๆ คล้ายผีโขมดว่า ลอยโขมด ดังกล่าว)
รื่องที่ห้า กล่าวกันว่าในประเทศจีนสมัยก่อน ทางตอนเหนือ เมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำจะท่วมเสมอ บางปีน้ำท่วมจนชาวบ้านตายนับเป็นแสนๆ และหาศพไม่ได้ก็มี ราษฎรจึงจัดกระทงใส่อาหารลอยน้ำไป เพื่อเซ่นไหว้ผีเหล่านั้นเป็นงานประจำปี ส่วนที่ลอยในตอนกลางคืน ท่านสันนิษฐานว่า อาจจะต้องการความขรึม และขมุกขมัวให้เห็นขลัง เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับผีๆสางๆ และผีก็ไม่ชอบปรากฏตัวในตอนกลางวัน การจุดเทียนก็เพราะหนทางไปเมืองผีมันมืด จึงต้องจุดให้แสงสว่าง เพื่อให้ผีกลับไปสะดวก ในภาษาจีนเรียกการลอยกระทงว่า ปล่อยโคมน้ำ (ปั่งจุ๊ยเต็ง) ซึ่งตรงกับของไทยว่า ลอยโคม จากเรื่องข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า การลอยกระทง ส่วนใหญ่จะเป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงผู้มีพระคุณต่อมนุษย์ เช่น พระพุทธเจ้า เทพเจ้า พระแม่คงคา และบรรพชน เป็นต้น และแสดงความกตเวที (ตอบแทนคุณ) ด้วยการเคารพบูชาด้วยเครื่องสักการะต่างๆ โดยเฉพาะการบูชาพระพุทธเจ้า หรือรอยพระพุทธบาท ถือได้ว่าเป็นคติธรรมอย่างหนึ่ง ที่บอกเป็นนัยให้พุทธศาสนิกชน ได้เจริญรอยตามพระบาทของพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามทั้งปวงนั่นเอง
ประเพณีลอยกระทง นอกจากจะเป็นประเพณีที่มีคุณค่า ในเรื่องการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวที ต่อผู้มีพระคุณดังที่กล่าวมาแล้ว ประเพณีนี้ยังมีคุณค่าต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และศาสานาด้วย เช่น ทำให้สมาชิกในครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ทำให้ชุมชนได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงาน หรือในบางท้องที่ที่มีการทำบุญ ก็ถือว่ามีส่วนช่วยสืบทอดพระศาสนา และในหลายๆ แห่งก็ถือเป็นโอกาสดีในการรณรงค์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลองไปด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : อมรรัตน์ เทพกำปนาท สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
ลอยกระทงออนไลน์ ลอยกระทงในเน็ต สำหรับชาวกรุงเทพฯ และพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง เพื่อลดขยะที่จะเกิดขึ้นซึ่งจะยิ่งทำให้การระบายน้ำช้าลง คลิกที่นี่หรือที่รูปด้านล่างเพื่อ ลอยกระทงออนไลน์ กับสนุกดอทคอม ได้เลย